วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Sign and symptom of heart disease

อาการเตือนของโรคหัวใจ


ความเป็นจริงแล้วคำว่า"โรคหัวใจ"มีความหมายกว้างมาก
อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจนั้น มีไม่มากนัก
ดังอาการ ข้างล่างนี้
แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น
ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน

ดังนั้นการที่ แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น
จำเป็นต้องอาศัยประวัติ อาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย
บางครั้งต้องอาศัยการ ตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น
เพื่อแยกโรคต่างๆที่มีอาการคล้ายกัน

เจ็บหน้าอก (CHEST PAIN)

อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด
หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม
กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก
เมื่อมีการอักเสบหรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ทั้งสิ้น
แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Diagnosis Of heart disease

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

การตรวจทางโรคหัวใจ ต้องอาศัยประวัติ อาการที่ละเอียด
เพื่อดูว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคหัวใจหรือไม่
เนื่องจากมีหลายโรคที่ให้อาการคล้ายกับโรคหัวใจ
แพทย์จะซักประวัติทั่วๆไปด้วย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด
รวมทั้งประวัติการใช้ยา และ การรักษาต่างๆ

การตรวจทางโรคหัวใจ อาจแบ่งคร่าวๆได้ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

การตรวจพื้นฐาน ได้แก่

การตรวจร่างกาย (Physical exam) เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง
อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร อัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ
ความดัน โลหิต ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกติไหม
เช่น เสียงสาม เสียงสี่ หรือ เสียงฟู่ (mur mur)
นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกาย ทุกระบบด้วย
เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ
บอกขนาดห้องหัวใจ(แต่ไม่ดีนัก) บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ บางชนิด
หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย

หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ "เช็ค" หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง
แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง
เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น
ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ

เอกซเรย์ทรวงอก (chest x-ray)หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด
ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด
ภาวะน้ำท่วมปอด หรือ หัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร

ตรวจเลือด (Blood sampling)การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด
ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค
และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา)

Heart disease โรคหัวใจ


คำว่า “โรคหัวใจ” เป็นคำที่กว้างมาก ฟังดูน่ากลัวมากสำหรับผู้ป่วย
ในความเป็นจริงแล้วโรคหัวใจแบ่งย่อยออกได้มากมายหลายชนิด
ความรุนแรง และความจำเป็นในการรักษาก็แตกต่างกัน
ดังนั้นหากคุณหมอบอกท่านว่าท่านเป็นโรคหัวใจ
ท่านควรจะทราบ รายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ของท่านมากขึ้น
ว่าท่านเป็นโรคหัวใจชนิดใด เกิดจากอะไรและมีแนวทางการรักษาอย่างไร

เราอาจแบ่งชนิดของโรคหัวใจคร่าวๆได้ดังนี้


โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease)

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด บางครั้งวินิจฉัยได้แต่แรกคลอด
แต่บางครั้งก็ไม่มีอาการใดๆ จนกว่าจะอายุมากก็มี
ความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นกับทุกส่วนของหัวใจ
ช่น หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ
หรือ ตัวห้องหัวใจเอง มีสภาพไม่สมบูรณ์
เหมือน บ้านที่สร้างไม่เสร็จ มีรอยโหว่ รู้รั่ว ประตูปิดไม่ดี
น้ำท่วม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเรา ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
เชื่อว่าการติดเชื้อไวรัสและการได้รับสารเคมี
เช่น ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์อ่อนๆอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ความผิดปกติเหล่านี้หลายอย่างสามารถผ่าตัดแก้ไขได้
แต่บางครั้งก็ทำอะไรไม่ได้